วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

งานเทคโนโลยีปและนวัตกรรมใหม่

 

ทคโนโลยีที่สำคัญในยุคดิจิทัล: เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าและไร้คนขับ Tech Series: Electric and Autonomous Cars

ปัจจุบันเทคโนโลยียานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และยานยนต์ไร้คนขับ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาด้านพลังงานน้ำมัน และความต้องการใช้พลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Car) หมายถึง รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยแรงบิดของมอเตอร์ไฟฟ้าโดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่สร้างมาจากแบตเตอรี่หรืออุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้ารูปแบบอื่นๆ โดยเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันทั่วไปมีอยู่ 2 ส่วน คือ (1) แบตเตอรี่ ซึ่งเป็นตัวเก็บพลังงานของรถยนต์ไฟฟ้า ที่ปัจจุบันใช้แบบ Lithium-Ion ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ชนิดเดียวกับที่ใช้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งยังคงมีราคาสูงอยู่ และต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และ (2) ชิ้นส่วนในระบบส่งกำลัง เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า ตัวแปลงกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ รถยนต์ไฟฟ้าสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • รถยนต์ไฮบริดพลังงานไฟฟ้าแบบชาร์จไม่ได้ (Hybrid-electric Vehicles หรือ HEV) เป็นรถยนต์ประเภทที่มีเครื่องยนต์เหมือนกับที่ใช้ในรถยนต์น้ำมันทั่วไป แต่มีขนาดที่เล็กกว่า และใช้การผสมผสานการสร้างพลังงานจากเครื่องยนต์สันดาป หรือเครื่องยนต์ใช้น้ำมันและจากการชาร์จกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่ไฟฟ้า

  • รถยนต์ไฮบริดพลังงานไฟฟ้าแบบชาร์จได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicles หรือ PHEV) เป็นประเภทของรถยนต์ที่ต่างกับ HEV ทั่วไป เพราะมีการใส่มอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับชาร์จกระแสไฟฟ้าเพิ่มเข้ามาทำงานควบคู่ไปกับเครื่องยนต์สันดาป

  • รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่โดยสมบูรณ์ (Battery Electric Vehicles หรือ BEV) เป็นรถยนต์ประเภทที่มีแต่มอเตอร์ไฟฟ้า ไม่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน ตัวมอเตอร์จะชาร์จพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไฟฟ้าและสร้างแรงบิดให้รถยนต์ขับเคลื่อน

ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่เป็นที่นิยมมากนักเนื่องด้วยยังมีราคาแพงกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ประกอบกับประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้าเองก็ยังต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันทั่วไป แต่ด้วยการลงทุนวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ที่ทำให้เก็บพลังงานได้มากขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง และความตระหนักในเรื่องการลดมลภาวะโดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผู้บริโภคจึงมีแนวโน้มที่จะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

รถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car หรือ Self-driving Car) หรือรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยคนควบคุม เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีด้านยานยนต์ที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ตลาดโลกเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองอัตโนมัติเป็นการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีต่างๆ ดังนี้

  • Navigation หรือระบบแผนที่ ซึ่งประกอบด้วยระบบการระบุตำแหน่งของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจากดาวเทียม และระบบแผนที่เสมือนจริงที่เก็บรวบรวมข้อมูลในคลังข้อมูลดิจิทัล ทั้งนี้ ข้อมูลที่เก็บคือข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งของรถบนถนน เช่น ตำแหน่งของไฟจราจร ตำแหน่งทางม้าลาย ป้ายสัญญาณห้ามเลี้ยวขวา ความกว้างของเลนถนน รวมถึง ความเร็วสูงสุดที่กฎหมายอนุญาตให้รถวิ่งได้ในถนนแต่ละเส้น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะใช้ระบบแผนที่ซึ่งประมวลผลร่วมกับระบบ Sensor เพื่อเพิ่มความถูกต้องและแม่นยำในการตัดสินใจ

  • Computer Vision หรือระบบที่ทำหน้าที่เป็นตาและหูให้กับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเมื่อรถวิ่ง

  • Deep Learning หรือระบบประมวลผลปัญญาประดิษฐ์ ทำหน้าที่เหมือนสมองของรถยนต์ไร้คนขับ เป็นระบบที่ทำให้รถยนต์อัตโนมัติสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองจากการประมวลผลข้อมูลที่รับมาจากระบบ Computer Vision

  • Robotics หรือระบบที่เชื่อมต่อระบบประมวลผลส่วนกลางเข้ากับระบบเครื่องจักรต่างๆ ในตัวรถโดยทำหน้าที่เสมือนเส้นประสาทที่เชื่อมต่อสมองของมนุษย์เข้ากับแขนขาและส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ในด้านระดับความเป็นอัตโนมัติในรถยนต์ไร้คนขับ สมาคมวิศวกรยานยนต์ หรือ Society of Automotive Engineering (SAE) ซึ่งเป็นผู้กำหนดมาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ ได้ทำการแบ่งระดับความเป็นอัตโนมัติในรถยนต์ไร้คนขับ จำแนกตามระดับของการเข้ามามีส่วนยุ่งเกี่ยวของมนุษย์ โดยมีระดับความอัตโนมัติตั้งแต่ระดับ 0 (No Automation) ซึ่งเป็นระดับที่มนุษย์ควบคุมรถยนต์เองทั้งหมด จนถึงระดับ 5 (Full Automation) ซึ่งเป็นรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนบนท้องถนนได้เองในทุกสภาวะและมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเหมือนมนุษย์ทุกประการ ในปัจจุบัน เทคโนโลยีรถยนต์อัตโนมัติที่ทันสมัยที่สุดของบริษัทที่เป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 4 นั่นหมายถึง รถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้เองในสภาวะที่จำกัด

รถยนต์ไร้คนขับมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต เนื่องจากสามารถช่วยลดอุบัติเหตุ เป็นตัวเลือกในการเดินทางสำหรับคนที่ไม่สามารถขับรถได้ รวมถึงการลดระยะเวลาในการเดินทาง

โดยสรุป เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (Disruptive Technology) ต่อการคมนาคมและอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกในอนาคตอย่างแน่นอน แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความเร็วในการพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง อัตราการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐของแต่ละประเทศ

ภาพแสดงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ไร้คนขับบนท้องถนน






วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ใบงานที่ 1 เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่

 

ถ้าจะกล่าวถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มาเปลี่ยนโลก ดึงความสนใจของผู้คนได้อย่างมหาศาล คงหนีไม่พ้น ยานยนต์ไฟฟ้า ที่โดยหลักแล้ว มีแก่นแกนที่จะหยุดการใช้รถยนต์แบบสันดาปและใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งทำร้ายสภาพแวดล้อมของโลกมาอย่างยาวนาน และเปลี่ยนโลกให้เข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อ โลกยานยนต์ไฟฟ้า อยู่ในความสนใจของชาวโลก ก็มีนวัตกรรมมากมายที่ได้รับการคิดค้นขึ้นเพื่อตอบโจทย์การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้าทุกชนิด

มาในวันนี้ เราได้รวบรวมเอา 3 นวัตกรรมระดับโลกสุดเจ๋ง ที่คิดค้นขึ้นเพื่อตอบสนอง โลกยานยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง มาแนะนำกัน

หุ่นยนต์ชาร์จรถไฟฟ้า ปลดล็อค โลกยานยนต์ไฟฟ้า ให้เป็นอะไรที่ง่ายขึ้นไปอีก

เชื่อว่าแค่นวัตกรรมแรกก็สร้างความว๊าวให้ทุกคนได้แล้ว กับ หุ่นยนต์ชาร์จรถไฟฟ้า ที่ผสมผสานเอาเทคโนโลยีแห่งยุคอย่าง หุ่นยนต์ หรือ Robotic มาใช้อำนวยความสะดวกในการชาร์จแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยนวัตกรรมนี้คิดค้นโดยแบรนด์รถยนต์ชื่อดังระดับโลกอย่าง Volkswagens
หุ่นยนต์ชาร์จรถไฟฟ้า
โดยได้นำเสนอหุ่นยนต์ต้นแบบที่สามารถชาร์จรถยนต์ EV ตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกให้เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือหุ่นยนต์ตัวนี้จะเคลื่อนที่ไปยังรถที่ต้องการชาร์จไฟโดยผู้ใช้งานสั่งการผ่านแอปหรือเชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์ค V2X เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานเท่านั้น แต่มันยังช่วยประหยัดพื้นที่ของสถานีชาร์จ และช่วยรองรับความต้องการกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับตัวหุ่นยนต์ชาร์จรถยนต์ EV นี้จะมาพร้อมกับกล้อง เลเซอร์สแกนเนอร์ และเซนเซอร์อัลตร้าโซนิก โดยระบบเหล่านี้จะช่วยให้หุ่นยนต์ทำการชาร์จไฟอัตโนมัติและเคลื่อนที่ไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระกลางลานจอดรถด้วย

Volkswagens

และเมื่อมีคำสั่งการมาจากผู้ใช้งานผ่าน V2X เจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ก็จะทำการพาตัวเองที่พ่วงติดกับอุปกรณ์เก็บพลังงานเคลื่อนที่ไปหารถ แล้วทำการเสียบปลั๊กไฟชาร์จเชื่อมต่อโดยอัตโนมัติ จากนั้นก็จะปล่อยให้อุปกรณ์เก็บพลังงานนี้ทำหน้าที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าชาร์จรถต่อไป (อุปกรณ์เก็บพลังงานชาร์จไฟได้ผ่านกระแสตรงสูงสุด 50 kWh) ส่วนตัวหุ่นยนต์ก็จะไปหารถที่ต้องการชาร์จไฟคันอื่นต่อ และเมื่อชาร์จไฟเสร็จเรียบร้อย หุ่นยนต์จะมาเก็บอุปกรณ์เก็บพลังงานนี้เพื่อนำกลับไปเก็บที่สถานีชาร์จไฟ
ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ หุ่นยนต์ชาร์จไฟเคลื่อนที่นี้จะทำงานเหมือน Power Bank ที่เราใช้ทำหน้าที่ชาร์จไฟสำรองให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเรานั่นเอง หากในอนาคตการพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบนี้เสถียรมากขึ้นใช้งานได้จริง เชื่อว่า โลกยานยนต์ไฟฟ้า จะต้องมีอะไรสนุกๆ ออกมาให้ผู้ใช้งานได้เพลิดเพลินอย่างแน่นอน

เครื่องบินไฟฟ้า การพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง เปลี่ยนโลกการเดินทางให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แม้จะไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งถูกคิดค้นขึ้นในโลก แต่ในปัจจุบัน เครื่องบินไฟฟ้า ได้รับการพัฒนาไปแบบไม่หยุดยั้ง ทั้งในวงการบินทั่วไป และวงการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศก็มีแผนการปรับเอา เครื่องบินไฟฟ้า มาใช้ทั้งเพื่อจุดประสงค์ด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำเทคโนโลยีสะอาดนี้ด้วย

โดยล่าสุด บริษัทอีวิเอชั่นของอิสราเอล ได้เปิดตัว เครื่องบินไฟฟ้า ที่ชาร์จแบต 30 นาที บินได้นาน 1 ชั่วโมง ระยะทาง 814 กิโลเมตร ทำความเร็วได้ 250 น็อต หรือ 463 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่บินสำเร็จแล้วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นเครื่องบินพาณิชย์ 9 ที่นั่ง
นี่เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่ากระแสนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้านั้น แรงดีไม่มีแผ่ว อย่าง นาซาหรือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯก็ยังให้ บริษัท จีอีเอวิเอชั่น และ บริษัท แม็กนิกซ์ พัฒนาเครื่องบินไฟฟ้าซึ่งจะสำเร็จสมบูรณ์แบบและนำออกมาใช้ได้ใน ค.ศ.2035
ด้านโบอิ้งซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติสหรัฐฯก็ให้ บริษัท วิสค์แอโร่ ผลิตเครื่องบินโดยสารระบบไฟฟ้าอัตโนมัติทั้งลำ ส่วนแอร์บัสซึ่งเป็นบริษัทเครื่องบินฝั่งยุโรปพัฒนาเครื่องบินไฟฟ้าตั้งแต่ ค.ศ.2010 ไม่ช้าก็จะนำมาใช้ในการขนส่งผู้โดยสารได้จริง
มาในแวดวงการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศกันบ้าง บริษัทขนส่งระหว่างประเทศย่าง ดีเอชแอล ได้สั่งซื้อเครื่องบินที่ใช้ไฟฟ้าของ บริษัท อีวิเอชั่น แล้ว 12 ลำ จะส่งมอบได้ใน ค.ศ.2024 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า นอกจากดีเอชแอลแล้ว บริษัทสายการบินพาณิชย์เคปไอร่า ก็สั่งซื้อฝูงบินไฟฟ้าของบริษัทนี้เพื่อใช้บินให้บริการในเส้นทางการบินที่เชื่อมเมืองในรัฐแมสซาชูเชตส์ของสหรัฐฯในปีหน้าเช่นกัน

นอกจากนั้น เครื่องบินไฟฟ้า ยุคนี้ ยังแข่งขันกันอย่างดุเดือดในเรื่องของ “ความเร็ว” ด้วย อย่างล่าสุด เครื่องบินไฟฟ้า Rolls-Royce ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าเครื่องบินไฟฟ้าของบริษัทชื่อ Spirit of Innovation ทำลายสถิติความเร็วสูงสุดที่เครื่องบินไฟฟ้าเคยทำได้ กลายเป็นเครื่องบินไฟฟ้าที่เร็วที่สุดในโลก
Rolls-Royce ยังระบุว่า Spirit of Innovation ทำความเร็วได้ 555.9 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 3 กิโลเมตร และ 532.1 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 15 กิโลเมตร เร็วกว่าสถิติเดิม ถึง 213.04 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ 292.8 กิโลเมตร/ชั่วโมงตามลำดับ แต่ไม่ได้ระบุว่าสถิติเดิมทำไว้โดยบริษัทไหน หรือเครื่องรุ่นไหน
นอกจากนี้ยังทำสถิติไต่ระดับสู่ความสูง 3,000 เมตรได้ในเวลา 3 นาที 22 วินาที เร็วกว่าสถิติเดิม 4 นาที 22 วินาที ที่ Siemens eAircraft Extra 330LE เคยทำไว้ ถึง 1 นาทีเต็มๆ เช่นกัน

ถนนชาร์จไฟฟ้าได้ ฝันที่เป็นจริงของคนรักยานยนต์ไฟฟ้า

ไม่ใช่แค่อยู่ในขั้นคิดค้นได้ แต่อิสราเอลกำลังจะสร้าง ถนนชาร์จไฟฟ้า เป็นเส้นแรกในโลกแล้ว โดยสตาร์ตอัปสัญชาติอิสราเอล เตรียมสร้างถนนที่สามารถชาร์จพลังงานให้กับรถไฟฟ้า (EV) ในรัฐมิชิแกนเป็นที่แรก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะพร้อมทดลองใช้งานปี 2023

โดยบริษัท Electreon Wireless สตาร์ตอัปสัญชาติอิสราเอลได้วางแผนเตรียมสร้างถนนที่มีความยาวกว่า 1.6 กิโลเมตร ให้เป็นถนนต้นแบบที่สามารถชาร์จพลังงานแบบไร้สายให้กับรถ EV ได้ โดยเตรียมการติดตั้งและทดสอบในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐฯ เป็นที่แรก คาดว่าจะสามารถทดสอบการใช้งานภายในปี 2023
สำหรับถนนชาร์จพลังงานไฟฟ้าแบบไร้สายให้กับรถยนต์ EV เป็นการสร้างถนนที่มีการติดตั้งขดลวดไว้ใต้พื้นถนนลาดยาง เพื่อชาร์จพลังงานให้กับรถยนต์ในรูปแบบของการเหนี่ยวนำไฟฟ้า ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการชาร์จแบบไร้สายของโทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดยจะมีการติดตั้งชุดรับสัญญาณแม่เหล็กไว้ใต้ท้องรถเพื่อช่วยให้เกิดการชาร์จพลังงาน และเทคโนโลยีการชาร์จแบบไร้สายนี้จะช่วยให้รถยนต์สามารถชาร์จพลังงานได้โดยไม่ต้องจอด จึงไม่ต้องแวะชาร์จระหว่างทาง

นับเป็นครั้งแรกที่มีการติดตั้งโครงสร้างการชาร์จแบบไร้สายบนถนน ซึ่งโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของบริษัทผู้พัฒนาจากเทลาวีฟ ประเทศอิสราเอล กับบริษัทรถยนต์ Ford และ DTE Enery บริษัทด้านพลังงานในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้เริ่มสร้างถนนต้นแบบในย่านคอร์คทาวน์ เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกนเป็นที่แรก เพื่อกระตุ้นการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น
การสร้างถนนต้นแบบสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Inductive Vehicle Charging Pilot ของรัฐมิชิแกน ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาเมืองและใช้พลังงานไฟฟ้า ด้วยการสนับสนุนผลิตและใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า โดยเริ่มจัดหาเงินทุนจำนวน 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยคาดว่าถนนจะเสร็จและพร้อมสำหรับการทดลองใช้งานภายในปี 2023

เทคโนโลยีการชาร์จแบบไร้สาย จะช่วยให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถชาร์จพลังไฟฟ้าได้สะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะจอดอยู่หรือวิ่งก็สามารถชาร์จพลังงานได้ โดยไม่ต้องกังวลใจว่าจะแวะเติมพลังงานได้ที่ไหนบ้างหากต้องวิ่งในระยะทางที่ไกลขึ้น

ที่มา :


รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับโลกยานยนต์ไฟฟ้า กดอ่านต่อเลย

มาตรการในฝัน (ที่ยากจะเลียนแบบ) ดันสัดส่วน EV จดทะเบียนใหม่ ใน “นอร์เวย์” พุ่งสูงที่สุดในโลก

4 เหตุผลที่ ตลาด EV CAR ยังไม่บูมสักทีในประเทศยุโรป


ที่มา https://www.salika.co/2022/02/23/3-innovations-support-world-ev-vehicles/